ดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 ของ วังเบลนิม

“ชาร์ลส์ ดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 และครอบครัว” โดยจอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนท์ (ค.ศ. 1905)คอนซูเอลโล แวนเดอบิลท์ ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ

ชาร์ลส์ สเปนเซอร์-เชอร์ชิล ดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 (ค.ศ. 1871 ถึง ค.ศ. 1934) ได้ชื่อว่าเป็นผู้ช่วยให้วังเบลนิมและครอบครัวรอดพ้นมาจากการล้มละลาย เมื่อได้รับวังเบลนิมมาเมื่อปี ค.ศ. 1892 ท่านดยุกก็ต้องพยายามหาวิธีแก้ปัญหาการสูญเสียวังอย่างเร่งด่วน วิธีเดียวที่สุภาพบุรุษที่อยู่ในฐานะทางสังคมเช่นดยุกที่ถูกห้ามไม่ให้ทำมาหากินเช่นผู้อื่น ก็คือการแต่งงานกับผู้มีฐานะดีพอที่จะแก้ปัญหาทางการเงินของครอบครัวได้ ฉะนั้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1896 ดยุกก็ขอคอนซูเอลโล แวนเดอบิลท์แต่งงานอย่างปราศจากความรักโดยไม่ปิดบัง คอนซูเอลโลเป็นบุตรีคนสวยและทายาทของเจ้าของการรถไฟชาวอเมริกันผู้ร่ำรวยมหาศาล การแต่งงานเป็นที่ตกลงกันหลังจากการต่อรองเงื่อนไขต่างๆ อย่างยืดยาวระหว่างดยุกและบิดาและมารดาของคอนซูเอลโล มารดาของคอนซูเอลโลมีความต้องการมิใช่แต่เพียงการจัดการแต่งงาน แต่รวมไปถึงตำแหน่งดัชเชส ซึ่งในที่สุดก็ได้มาโดยการที่วิลเลียม แวนเดอบิลท์บิดาของคอนซูเอลโลต้องจ่ายเงินจำนวนทั้งสิ้น $2,500,000 (ประมาณ 1,900,000,000 บาทในปี ค.ศ. 2007) เป็นค่าฐานันดรในรูปของหุ้น 50,000 หุ้นของบริษัทรถไฟบีชครีคและการันตีเงินปันผลอย่างต่ำ 4% ต่อปีโดยบริษัทรถไฟนิวยอร์กเซ็นทรัล นอกจากนั้นแล้วคู่บ่าวสาวยังได้รับรายได้ประจำปีอีกปี ละ $100,000 ต่อคนจนตลอดชีพ ต่อมาคอนซูเอลโลกล่าวอ้างว่าตนถูกขังอยู่ในห้องจนกระทั่งยอมตกลงที่จะแต่งงาน คู่บ่าวสาวจดทะเบียนกันที่วัดเซนต์ทอมัสเอพิสเคอพัลที่นครนิวยอร์ก ภายในรถหลังจากจดทะเบียนแล้วดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 ก็บอกกับคอนซูเอลโลว่าตนรักผู้หญิงคนอื่นแล้วและจะไม่ยอมกลับมาสหรัฐอเมริกาอีกตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่เพราะความที่ตน “เกลียดทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ใช่อังกฤษ”

การซื้อสิ่งของที่ขายไปแล้วกลับคืนมายังวังเบลนิมก็เริ่มขึ้นทันทีหลังจากการฉลองการแต่งงาน โดยเริ่มด้วยอัญมณีมาร์ลบะระ พรมแขวนผนัง จิตรกรรม และเครื่องเรือนถูกซื้อจากยุโรปเพื่อนำมาตกแต่งวังที่โล่งโถงจากเครื่องเรือนที่ถูกขายไปก่อนหน้านั้น นอกจากนั้นดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 ยังได้เริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์และการตกแต่งภายในวังด้วยการตกแต่งแบบปิดทองเลียนแบบการตกแต่งภายในพระราชวังแวร์ซายส์ การตกแต่งภายในกลายเป็นงานเลียนแบบการตกแต่งวังสำคัญๆ ต่างๆ ในยุโรป เป็นการทำให้ความตั้งใจของแวนบรูห์ที่จะให้วังเบลนิมเป็นคู่แข่งของพระราชวังแวร์ซายส์สำเร็จในที่สุด แต่การบูรณปฏิสังขรณ์และการตกแต่งก็มิได้ปราศจากข้อบกพร่อง (ซึ่งดยุกแห่งมาร์ลบะระเองก็ยอมรับว่าผิดหวังในภายหลัง) แต่บางอย่างก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น ผลจากการตกแต่งใหม่ทำให้ห้องรับรองและห้องนอนเอกถูกย้ายไปอยู่ชั้นบนของตัวอาคารทำให้ความหมายและความสำคัญของห้องลดลง

บนเนินต่างระดับด้านตะวันตกอาชิลล์ ดูเชนนักออกแบบสวนภูมิทัศน์ชาวฝรั่งเศสสร้างสวนน้ำบนเนินชั้นบน เนินชั้นสองถัดลงไปเป็นน้ำพุใหญ่สองน้ำพุแบบจานโลเรนโซ แบร์นินี ตามแบบหุ่นย่อส่วนของน้ำพุที่จตุรัสนาโวนาในกรุงโรม ที่ดยุกแห่งมาร์ลบะระ ได้รับเป็นของขวัญ

ภายในตัววังก็มีการขยายและตกแต่งอย่างหรูหราสมฐานะเจ้าของวังผู้เป็นดยุก เจ้าหน้าที่ดูแลภายในวังมีด้วยกันทั้งหมดประมาณ 40 ภายนอก 50 รวมทั้งพนักงานจัดการล่าสัตว์ (Gamekeeper) 12 คน ช่างไฟฟ้า ช่างไม้ คนจัดดอกไม้ ผู้ดูแลตำหนักเล็กๆ และผู้เล่นคริกเก็ตอาชีพเพื่อดูแลให้ทีมคริกเก็ตของวังประสบความสำเร็จ ผู้ดูแลตำหนักแต่งเครื่องแบบเสื้อคลุมนอกดำกระดุมเงินและท็อพแฮ็ท เจ้าหน้าที่ล่าสัตว์แต่งเสื้อคลุมนอกเขียวกำมะหยี่กระดุมทองเหลืองและหมวกบิลลิค็อค

หลังจากการบูรณปฏิสังขรณ์และการตกแต่งใหม่วังเบลนิมก็คืนสภาพมาเป็นวังที่หรูหรามีหน้ามีตาอีกครั้ง แต่คอนซูเอลโลไม่มีความสุขและบันทึกปัญหาต่างในหนังสือชีวประวัติ “The Glitter and the Gold” ในปี ค.ศ. 1906 คอนซูเอลโลก็ทิ้งและหย่ากับสามีดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 ในปี ค.ศ. 1921 ต่อมาก็ไปแต่งงานกับจาร์ค บาลแซงชาวฝรั่งเศส คอนซูเอลโลมีโอกาสได้เห็นนลูกชายสืบตำแหน่งเป็นดยุกแห่งมาร์ลบะระ0 และกลับมาเยี่ยมวังเบลนิมบ้างก่อนที่จะมาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1964

หลังจากหย่ากับคอนซูเอลโลแล้วดยุกแห่งมาร์ลบะระก็แต่งงานใหม่กับแกลดิส ดีคอนชาวอเมริกันเช่นกันผู้เพื่อนเก่าของคอนซูเอลโลเอง ดีคอนเป็นผู้มีลักษณะนิสัยที่ออกจะแปลกและน่าสนใจ (eccentric) และมีพรสวรรค์ทางศิลปะอยู่บ้าง ซึ่งจะเป็นได้จากภาพเขียนของตาของดีคอนซึ่งยังคงอยู่บนเพดานของซุ้มทางด้านเหนือ บนเนินต่างระดับระดับล่างตกแต่งด้วยสฟิงซ์สร้างตามแบบดีคอนโดย ดับเบิลยู วาร์ด วิลลิส ในปี ค.ศ. 1930 ระหว่างที่พำนักอยู่ที่วังเบลนิมก่อนที่จะแต่งงานกับดยุกแห่งมาร์ลบะระดีคอนก็มีความสำพันธ์กับเจ้าชายวิลเฮล์ม มกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย ซึ่งทำให้เป็นเรื่องร่ำลือกันอยู่ระยะหนึ่ง วิลเฮล์มถึงกับประทานแหวนให้ หลังจากแต่งงานกับดยุกแล้วดีคอนก็มักจะวางปืนไว้ข้างจานขณะที่รับประทานอาหารเย็นกับดยุก ดยุกเองก็เริ่มเบื่อดีคอนและต้องปิดวังเบลนิมเป็นการชั่วคราวและปิดน้ำไฟเพื่อจะไล่ดีคอนออกจากวัง ในที่สุดทั้งสองก็แยกกันอยู่แต่ก็มิได้หย่าร้างกัน ดยุกถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1934 และดีคอนในปี ค.ศ. 1977

หลังจากดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 ถึงแก่อสัญกรรม จอห์น สเปนเซอร์-เชอร์ชิล (ค.ศ. 1898-ค.ศ. 1972) บุตรชายคนโตของดยุกและคอนซูเอลโล ก็ได้สืบเชื้อสายเป็นดยุกแห่งมาร์ลบะระ0 ผู้ที่หลังจากเป็นหม้ายมาเป็นเวลาสิบเอ็ดปีก็แต่งงานใหม่เมื่ออายุ 74 ปีกับ ฟรานซส์ ลอรา ชาร์เตอริสภรรยาเก่าของไวเคานต์ลองที่ 2 และเอิร์ลแห่งดัดลีย์ที่ 3 ฟรานซส์เป็นหลานสาวของเอิร์ลแห่งเวย์มิสที่ 11 แต่ก็เป็นการแต่งงานกันเพียงระยะสั้นเมื่อดยุกแห่งมาร์ลบะระ0 มาถึงแก่อสัญกรรมเพียงหกอาทิตย์หลังจากการแต่งงาน ฟรานซส์ ลอรา ชาร์เตอริสผู้รู้สึกว่าเบล็นไฮม์เป็นสถานที่ที่ออกจะเศร้าและไม่มีชีวิตจิตใจก็ย้ายออกจากวังไม่นานหลังจากนั้น ฟรานซส์เรียกเบล็นไฮม์ว่า "The Dump" ในหนังสือชีวประวัติ “เสียงหัวเราะจากเมฆ” (Laughter from a Cloud) ฟรานซส์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1990 ที่กรุงลอนดอน